ทำไมวันตรุษจีนแต่ละปีไม่ตรงกัน (กำเนิดปฏิทินจีน)
เคยมีคำถามมาอย่างนี้ ทั้งที่เป็นจดหมายและถามทางรายการวิทยุ
จริงๆ แล้ว วันตรุษจีนมีกำหนดวันที่ตรงกันทุกปี คือวันที่ ๑ เดือน ๑ ของจีน แต่เมื่อมาปรับเป็นวันของปฏิทินสากล จะเปลี่ยนไปไม่เคยตรงกันเลย เพราะปฏิทินจีนเป็นการดูวันทางจันทรคติ ส่วนปฏิทินสากล ดูวันแบบสุริยคติ
การดูวันทางจันทรคติของจีน คือการกำหนดวันและเดือนโดยดูพระจันทร์เป็นหลัก เมื่อพระจันทร์ขึ้นจากขอบฟ้าตะวันออก เคลื่อนไปตกที่ของฟ้าตะวันตก แล้วเวียนมาเป็นพระจันทร์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง คือ ๑ วัน
ส่วน...เดือน เกิดจากการนับรอบเมื่อจันทร์เพ็ญถึงจันทร์เพ็ญ...เป็น ๑ เดือน โดยนับวันเมื่อพระจันทร์เต็มดวง เป็นวันที่ ๑ ไปจนถึงพระจันทร์เต็มดวงอีกครั้งหนึ่ง หรือจะนับวันที่ ๑ เมื่อพระจันทร์ดับหมดกวง ไปจนถึงวันที่พระจันทร์ดับหมดดวงอีกครั้งหนึ่งก็ได้ นี่คือ ๑ เดือน
แต่จากการสังเกตของคนจีนโบราณพบว่า ใน ๑ ปี มี ๑๒ เดือน มีวงจรจันทร์เพ็ญ – จันทร์ดับ ๒๙ วัน ๖ ครั้ง และเป็นวงจรที่นับได้อีก ๓๐ วัน อีก ๖ ครั้ง ใน ๑ ปี มี ๑๒ เดือน จึงคำนวณวันได้เพียง ๓๕๔ - ๓–๕ วัน เดือนของคนจีนบางเดือนจึงมี ๒๙ วัน เรียกว่าเดือนสั้น เดือนใดมี ๓๐ วัน เรียกว่าเดือนยาว
อย่างไรก็ตาม กำหนดการนับจันทร์เพ็ญ-จันทร์ดับนี้ จะมีบางจังหวะที่ไม่ลงตัว ทำให้ต้องมีการเพิ่มวัน เรียกว่า อธิกวาร บางปีมีการเพิ่มเดือน เรียกว่า อธิกมาส
อธิก แปลว่า เพิ่ม
วาร คือ วัน
มาส แปลว่า เดือน
เพราะคนจีนแต่โบราณนมนานกาล ก่อนสมัยที่ยังรวมประเทศไม่ได้ แต่อยู่กันเป็นเผ่า ๆ แต่ละเผ่าจะมีการกำหนดให้คนที่มีสติปัญญาไหวพริบดี เป็นผู้คอยสังเกตธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การสังเกตพระอาทิตย์ พระจันทร์ การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล เมื่อใดควรปลูกพืชชนิดใด อย่างไร ความรู้นี้มีการสั่งสมและพัฒนามาเรื่อยๆ จนเกิดเป็นปฏิทินจีน
ประมาณปี พ.ศ. ๓๓๗ – ๕๖๗ ยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันตก มีการใช้ปฏิทินจีนโบราณเรียกว่า ปฏิทินฉบับไท่ซู ซึ่งต่อมาได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องแม่นยำขึ้น เป็น...ปฏิทินฉบับหยวนเจียลี่ ซึ่งให้มีการเพิ่มเดือนอธิกมาส ๗ เดือน ในทุกๆ รอบ ๑๙ ปี
ถึงปี พ.ศ. ๙๖๓ – ๑๑๓๒ สมัยราชวงศ์เหนือ-ใต้ มีคนจีนที่เป็นอัจฉริยะทางคณิตศาสตร์ ชื่อจู่ชงจือ (จู่ชงจือหรือโจ้วชงจื่อ) เป็นผู้ที่คิดได้ค่า (พาย) และสามารถทำนายกำหนดการเกิดสุริยุปราคา และจันทรุปราคา วงจรครบรอบปีของดวงอาทิตย์ ฯลฯ ได้ศึกษาและแก้ไขปฏิทินจีนโบราณให้ดียิ่งขึ้น เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ในการเพิ่มเดือนอธิกมาสว่าแต่ละปีควรมี ๓๖๕ วัน
แต่การดูวันทางจันทรคติทำให้แต่ละปีมีเพียง ๓๕๔ – ๓๕๕ วัน จึงควรปรับเพิ่มอธิกมาสว่า ให้เพิ่มเป็นจำนวน ๑๔๔ เดือนในทุกรอบ ๓๙๑ ปี เรียกปฏิทินจีนฉบับใหม่ที่แก้ไขโดยจู่ชงจือว่าปฏิทินฉบับต้าหมิงลี่ และจากการที่ปฏิทินจีนใช้หลักการจันทรคติ ๑ ปี มี ๓๕๔ วัน ในขณะที่ปฏิทินสากลเป็นแบบสุริยคติ จึงมีจำนวนวันใน ๑ ปี ที่แม่นยำกว่าคือ ๓๖๕ วัน ทำให้วันตรุษจีนซึ่งตรงกับวันที่ ๑ เดือน ๑ ของจีน เมื่อปรับมาเป็นวันในปฏิทินสากลจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่มีวันตรงกันเลย
อย่างในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ วันตรุษจีนตรงกับวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ปี ๒๕๔๔ วันตรุษจีนตรงกับวันที่ ๒๔ มกราคม เป็นต้น
沒有留言:
張貼留言